กอนช.เผยผลดำเนินงานศูนย์ฯ น้ำภาคใต้ สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน
กอนช.เผยผลดำเนินงานศูนย์ฯ น้ำภาคใต้
สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน
กอนช. เผยผลการดำเนินงานศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้ ลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ภัยด้านน้ำ ก่อเกิดการบูรณาการความร่วมมือบริหารจัดการน้ำในมิติต่างๆ พร้อมขยายผลส่งต่อการเรียนรู้การใช้ข้อมูลจัดการน้ำ สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
วันนี้ (26ม.ค.65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้ ครั้งที่ 1/2565 ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี (ผ่านระบบการประชุมทางไกล) โดยมี ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. และผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝนและระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง เขื่อนรัชชประภามีปริมาณน้ำเก็บกักร้อยละ 77 สามารถรับน้ำได้อีก 1,302 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนบางลางมีปริมาณน้ำเก็บกักร้อยละ 78 สามารถรับน้ำได้อีก 323 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ กรมอุตุฯและสสน.ได้คาดการณ์ฝนในช่วงวันที่ 26-31ม.ค.65 ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ยังคงมีกำลังอ่อน ส่งผลให้ในพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง
“จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ในวันนี้จึงได้มีมติยุติการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ และจะสรุปผลการดำเนินงานให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. รับทราบอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณะทำงานจาก 14 หน่วยงานที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ฯ ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน ทั้งที่จ.สุราษฎร์ธานีและจ.ยะลา ทำให้ผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นที่ประจักษ์ในการทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ รวมทั้งอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว โดยสามารถแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที ผ่านเครือข่ายของศูนย์ฯ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 800 คน นอกจากนี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจข้อมูลข่าวสารด้านน้ำในมิติต่างๆ ของประชาชนที่เข้าร่วมรายงานสถานการณ์น้ำผ่านช่องทางในกลุ่มไลน์ open chat ของศูนย์ฯ แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการแปลข้อมูลสำหรับใช้ในการสื่อสารออกไป กอนช. จึงได้ใช้โอกาสนี้ขยายผลการเรียนรู้โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้งานระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อส่งต่อการเรียนรู้การใช้ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและระบบติดตามสถานการณ์น้ำจาก National ThaiWater Mobile Application และ www.thaiwater.net ให้แก่บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 21ม.ค.65 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ก่อให้เกิดความร่วมมือบริหารจัดการน้ำในมิติต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
26 มกราคม 2565