“บิ๊กป้อม” เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าที่สุราษฎร์ฯจัดการน้ำท่วมภาคใต้ช่วงฤดูฝน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ผนึกความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งรับสถานการณ์น้ำแบบครบวงจร ดูแลชาวใต้ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมช่วงฤดูฝนน้อยที่สุด วันนี้ (17 พ.ย. 64) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ ติดตามสถานการณ์อุทกภัย การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และกล่าวมอบนโยบาย ณ ศาลากลางจังหวัดชุมพร ต.นาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร พร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ชุด แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ณ โรงเรียนอนุบาลสวี ต.นาโพธิ์ อ.สวี จากนั้นจึงเดินทางไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี ต.หนองไทร อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวรายงานโครงสร้างอำนาจหน้าที่คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวรายงานคาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคใต้ของประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมา อิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีสถานการณ์ฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่ง จ.ชุมพร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบกับสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณ อ.หลังสวน อ.สวี อ.ท่าแซะ อ.ทุ่งตะโก และอ.เมือง โดยรัฐบาลมีความห่วงใยและตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย ในวันนี้จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดบูรณาการความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัย รวมทั้งเร่งสำรวจความเสียหาย ฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย ทั้งนี้ เนื่องจาก กอนช. ได้คาดการณ์ว่า ยังคงมีพื้นที่เสี่ยงในบริเวณภาคใต้ซึ่งจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลายแห่ง เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสูงสุดในการรับมือกับสถานการณ์น้ำ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่ ในการบริหารจัดการมวลน้ำช่วงฤดูฝนภาคใต้ปี 2564 ให้เกิดความเป็นเอกภาพและสามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว พร้อมมอบหมายให้ทุกหน่วยงานใช้ข้อมูลจากศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำหลาก เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไปด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สทนช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบัญชาการกองทัพไทย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคใต้ โดยทุกหน่วยงานจะบูรณาการความร่วมมือ เชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งอำนวยการ บูรณาการ ติดตาม ตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลประชาชนชาวภาคใต้ให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ17 พฤศจิกายน 2564